10 อันดับ เครื่องสำอางไทย ที่ถูกใจสาวจีน
เรื่องของเครื่องสำอางกับสาวๆ เป็นของคู่กันเลยนะคะ ซึ่งสาวจีนก็ชอบแบรนด์เครื่องสำอางแบรนด์ไทย พอๆ กับที่สาวไทยชอบเครื่องสำอางแบรนด์เกาหลีหรือญี่ปุ่นนั่นแหละค่ะ และเพื่อให้แบรนด์ที่ต้องการขยายตลาดไปยังสาวหมวย ลองมาดูข้อมูลและการค้นหาของพวกเขากันว่านิยมค้นหาอะไรกันมากที่สุด เผื่อว่าจะช่วยให้แบรนด์เครื่องสำอางไทยสร้างสรรค์แคมเปญได้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น
นางสาวพัชรพร สิริทรัพย์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ ไป่ตู้ประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมความงามของไทยมีมูลค่าสูงกว่า 1.8 แสนล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงดูแลผิว เป็นตลาดความงามที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 45 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบ 1 ใน 2 ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด
ประเทศไทยถือเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความทันสมัย และตามกระแสโลกในเรื่องของเทรนด์การแต่งหน้า แต่งกาย มีการเชื่องโยงด้านวัฒนธรรม รูปแบบการแต่งหน้าแต่งกายจากทั้งยุโรป และเอเชียมาประยุกต์ใช้ อีกทั้งยังเป็นผู้นำกระแสด้านความงาม และสินค้าผู้หญิงในภูมิภาค เรามีสินค้าด้านความงาม และมีสินค้าแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาครองใจลูกค้าชาวจีนอย่างต่อเนื่อง
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่ามีสินค้าความงาม เครื่องสำอางจำนวนไม่น้อยแม้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จกับการขายสินค้าให้กับลูกค้าชาวไทย แต่สามารถสื่อสาร สร้างการรับรู้ และประสบความสำเร็จในการทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวชาวจีน จนสามารถดึงยอดขายสินค้าเหล่านั้นให้เป็นของฝากติดอันดับและสร้างรายได้หลักกลับเข้ามายังประเทศได้อย่างสวยงาม
“ผู้หญิงส่วนมากเมื่อไปท่องเที่ยวในต่างประเทศมักจะเลือกซื้อสินค้าประเภทแฟชั่น เสื้อผ้ารองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง กลับมาเป็นของใช้ของฝาก ประเทศไทยเองสามารถขายสินค้าของฝากประเภทเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิวให้เป็นสินค้าของฝากที่มีชื่อเสียง และเกิดการบอกต่อมายาวนาน”
สินค้าที่ได้รับความนิยมบนโลกโซเชียลมีเดียของจีน
ในช่วงระหว่างต้นปี 2018 และมีข้อมูลการแนะนำการเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้กลับไปเป็นของใช้ของฝาก โดยเมื่อมีการจัดอันดับสินค้าพบว่า 10 อันดับ ได้แก่
- แป้งทาหน้าผสมรองพื้น
- ครีมทามือ บำรุงเล็บมือ
- ยาแต้มสิว
- ครีมกันแดด
- สเปรย์กันยุง
- อายไลน์เนอร์
- มาสคาร่า
- ดินสอเขียนคิ้ว
- มาร์คหน้า (overnight mask )
- สบู่สมุนไพร
สินค้าความงามมีการแข่งขันกันทำการตลาดมากขึ้น โดยใช้ช่องทางการทำงานที่หลากหลายกันออกไป แต่อีกช่องทางหนึ่งที่ได้รับการตอบรับอย่างดีคือการใช้ KOL ( Key Opinion Leader ) หรือ การใช้บุคคลผู้มีอิทธิพลในแต่ละสาขาบนโซเชียลมีเดีย สื่อสารข้อมูลสินค้า และบริการไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
“เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้ง่ายหลายช่องทาง และช่องทางการสื่อสารเหมาะกับสินค้าประเภทความสวยงามที่ปัจจัยด้านการตัดสินใจซื้อเป็นเรื่องของอารมณ์ ความสวยงามมากกว่าเหตุผลทางด้านประโยชน์การใช้งานหรือราคาของสินค้า” พัชรพร กล่าวเสริม
ผู้ประกอบการ กลุ่มเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิวแบรนด์ไทย สามารถเข้าไปสร้างการรับรู้ที่ดีแก่ลูกค้าชาวจีนได้ เมื่อทราบถึงเทรนด์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแล้ว ลำดับต่อไปคือวิธีการ หรือการสร้างช่องทางการสื่อสารที่จะทำให้สินค้านั้นๆ สามารถเข้าถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแล้วแต่ว่าแบรนด์จะเลือกวิธีใดที่เหมาะสมและโดนใจผู้ชมได้เป็นอย่างดี
Cr.Thumbsup