ธุรกิจความงามไทย คว้าโอกาสตลาดส่งออก
ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและดูแลตัวเองเพื่อให้ดูดีอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ธุรกิจด้านความสวยความงาม และเครื่องสำอางต่างๆ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลายต่อหลายแบรนด์ต่างพากันคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค พร้อมงัดกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งไม่ใช่แค่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังตั้งเป้าขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศอีกด้วย
จากการเปิดเผยของคุณเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวในงาน ASEANbeauty 2019 บอกไว้ว่า ปัจจุบันธุรกิจเครื่องสำอางไทย ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก สะท้อนได้จากมูลค่าการตลาดของเครื่องสำอางในปี 2561 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นมูลค่าของตลาดในประเทศ 1.8 แสนล้านบาท และอีก 1.2 แสนล้านบาท เป็นมูลค่าของการส่งออก โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านรอบอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย ผู้บริโภคของประเทศเหล่านี้ค่อนข้างให้ความเชื่อมั่นกับสินค้าไทย และกว่า 40% บนชั้นวางเครื่องสำอางของพวกเขาล้วนเป็นสินค้าที่มาจากประเทศไทยนั่นเอง
โดยปัจจัยที่ทำให้ตลาดความงามของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีนั้น เป็นเพราะผู้เล่นในตลาดมีการแข่งขันกันสูง ก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มตัวเลือกให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งในปีนี้ ผู้ผลิตในตลาดต่างก็มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้หลากหลาย แต่เทรนด์ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องของความเป็นธรรมชาติ (Natural), การดูแลผิวอย่างอ่อนโยน, การลดริ้วรอย, การดูแลผิวหน้าให้ฉ่ำน้ำ รวมไปถึงเทรนด์ยอดนิยมอย่างผิวหน้าขาวใส (Whitening) ก็ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
นอกเหนือจากเทรนด์เหล่านี้แล้ว อีกหนึ่งโจทย์ที่ผู้เล่นเริ่มหยิบเอามาสร้างสรรค์กันมากขึ้น นั่นคือ เทรนด์ Anti-Aging เพื่อรับกับการเข้าสู่ Aging Society ในประเทศไทย เพราะผู้บริโภคกลุ่มสูงวัยในยุคนี้ เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาดูแลตัวเอง รวมถึงใส่ใจบุคลิกกันมากกว่าเดิม
เปิดเกมรุกบุกตลาดเพื่อนบ้าน
สำหรับผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทย ที่กำลังมองหาโอกาสในตลาดต่างประเทศ คุณสรศักย์ ชัยสถาผล ผู้ช่วยผู้จัดการส่วนพัฒนาหลักสูตรความรู้เฉพาะทาง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) แนะนำว่า CLMV หรือกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่น่าสนใจ เนื่องด้วยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้สูง โดยมี GDP เฉลี่ยถึง 7% ต่อปี นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังให้การยอมรับต่อสินค้าที่นำเข้าจากไทยค่อนข้างมาก สร้างโอกาสและแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทยได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การจะเจาะเข้าไปในแต่ละประเทศนั้น ผู้ประกอบการควรทำการศึกษาวิเคราะห์ตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อที่จะสามารถผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ เช่น ในกัมพูชา คนจะเน้นไปที่การเห็นผลแบบรวดเร็ว โดยกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางที่คาดว่าจะเติบโตสูง ได้แก่ ครีมบำรุงผิว แป้งทาหน้า รองพื้น ลิปสติก ในขณะที่เมียนมา คนจะมีความเชื่อเรื่องสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมความงามออร์แกนิค ตลอดจนประเภทบริการสปา ซาลอนและคลีนิคเสริมความงาม ล้วนเป็นที่ต้องการของคนเวียดนาม เป็นต้น ดังนั้น หากแบรนด์ไทยหยิบจุดเด่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสมุนไพรไทย สปา หรือวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติมาเป็นจุดขาย เชื่อว่าจะสามารถเจาะเข้าไปในตลาดเพื่อนบ้านได้มากขึ้น
เจาะตลาดฮาลาล อีกโอกาสของธุรกิจความงามไทย
อีกหนึ่งตลาดที่เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกเครื่องสำอางก็คือ “ตลาดฮาลาล” ในเรื่องนี้ ดร. อัชอารีย์ สุขสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ความต้องการของลูกค้าบางกลุ่มโดยเฉพาะในประเทศ OIC ที่เป็นชาวมุสลิมนั้นมีความต้องการเครื่องสำอางที่เป็นฮาลาล แม้ว่าเมื่อก่อนฮาลาลจะเป็นเพียงโลโก้ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นแบรนด์ไปแล้ว ซึ่งชาวมุสลิมจะดูที่ตราฮาลาลเป็นหลัก แสดงให้เห็นว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีการตรวจสอบตามหลักอย่างถูกต้อง
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะเข้าไปเจาะตลาดนี้นั้น ต้องอาศัยความพิถีพิถันในการเลือกใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์ที่ปราศจากสิ่งต้องห้าม เช่น สุกรและเหล้า ฯลฯ อีกทั้งยังต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมและวิถีการใช้ชีวิตของชาวมุสลิม อย่างการละหมาด 5 เวลาที่ต้องมีการล้างมือและล้างหน้า เพราะฉะนั้นเครื่องสำอางที่กันน้ำมากเกินไป หรือล้างออกยากจะไม่เป็นที่นิยม หรือยาทาเล็บต้องเป็นแบบที่น้ำสามารถซึมผ่านได้เท่านั้น และด้วยความที่สตรีชาวมุสลิมต้องทำคลุมผ้าฮิญาบ หากมีการทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงเส้นผมได้จะเป็นที่นิยมและตรงต่อความต้องการของตลาด เป็นต้น
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มส่งออก
จะเห็นได้ว่ามีโอกาสอย่างมากในการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางและความงามไปทำตลาดในต่างประเทศ แต่สิ่งสำคัญก่อนที่จะโกอินเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเครื่องสำอาง สุขภาพ ความงาม หรือสินค้าอะไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องเริ่มจากการเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อน โดยสิ่งที่ควรพิจารณาอย่างแรก คือ มีการจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลหรือไม่ ถึงแม้ว่าบุคคลธรรมดาจะสามารถทำการส่งออกสินค้าได้เช่นกัน แต่การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า เช่น สามารถใช้ภาษีในลักษณะนิติบุคคลได้ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในการเก็บข้อมูล เก็บหลักฐานต่างๆ เพื่อนำไปยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เป็นต้น (ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจ)
อีกทั้ง ผู้ประกอบการยังควรทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นบัตรที่กรมการค้าต่างประเทศ ออกให้กับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยลดเอกสารและขั้นตอนในการติดต่อกับกับกรมการค้าต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีความสะดวกในการติดต่องานราชการมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนเพื่อขอ Username กลาง ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ (ขั้นตอนการขอมีบัตรประจำตัว)
นอกจากนี้ เพื่อให้การส่งออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ประกอบการควรทำการศึกษากฎระเบียบต่างๆ อย่างรอบครอบ รวมถึงเรื่องของขั้นตอนและเอกสารการส่งออก กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าประเทศปลายทาง ข้อกำหนดการทำธุรกรรมการเงิน ระบบธนาคาร (อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน)
รวมถึงหน่วยงานสนับสนุนด้านการส่งออกต่างๆ เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สถานเอกอัครราชทูตไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรทำการติดตามรับฟังข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ เพื่อเป็นการก้าวให้ทันกับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในวงการส่งออก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก SMEONE