ถ้าดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ ฉลากสินค้าก็คือสิ่งที่แสดงความเป็นผลิตภัณฑ์ของเราออกมาตั้งแต่ครั้งแรกพบ ฉลากสินค้าจึงเป็นด่านแรกที่จะสามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้ท่ามกลางสินค้ามากมายที่วางเรียงกันอยู่บนชั้นวาง จึงไม่แปลกใจเลยที่เจ้าของแบรนด์อยากจะออกแบบให้ฉลากของตัวเองดูดีมีสไตล์ เพื่อสร้างแบรนด์ให้ดูโดดเด่นมากที่สุด แต่อย่าลืมนะคะ ว่ายังมีอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เราควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ
“กฎหมายฉลากเครื่องสำอาง” ที่พูดถึงข้อความที่ต้องระบุไว้บนฉลากเครื่องสำอางตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ในบทความนี้ Cosmania จึงต้องขอสวมบทบาทนักกฎหมาย ที่จะพาเจ้าของแบรนด์ไปดูข้อกำหนดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับฉลากเครื่องสำอางที่อ้างอิงจาก พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 22 วรรคสอง (3) ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอางต้องจัดให้มีฉลาก ซึ่งได้มีการกำหนดข้อความที่ต้องระบุ ลักษณะข้อความอื่น และภาษาที่ใช้ในเครื่องสำอางดังที่ระบุไว้ในพรบ. ถ้าอยากรู้แล้วว่ามีอะไรบ้าง เตรียมหยิบสมุดปากกาแล้วเช็คไปพร้อมๆกันได้เลยว่าฉลากของเรามีข้อความเหล่านี้หรือเปล่านะ
11 เช็คลิสต์ที่ต้องระบุบนฉลากเครื่องสำอาง
1.) ชื่อสินค้าหรือชื่อทางการค้า
ชื่อสินค้าหรือชื่อแบรนด์ต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสังเกตเห็นได้ชัดเจน
2.) ประเภทหรือชนิดของผลิตภัณฑ์
การระบุประเภทของเครื่องสำอางจะทำให้ผู้บริโภครู้เบื้องต้นว่าสินค้าของเราคืออะไร มีไว้ใช้สำหรับอะไร เช่น Shampoo, Moisturizer, Cleansing, Lotion
3.) ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม
บนฉลากต้องมีระบุรายการสารทุกชนิดให้ครบถ้วน ซึ่งชื่อสารจะต้องเรียงจากสารที่มีปริมาณมากไปน้อย โดยใช้ INCI name ส่วนสีที่ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอางให้แสดงเป็น CI No. (Color Index Number)
4.) วิธีการใช้
เป็นการแนะนำวิธีใช้ที่ถูกต้อง เช่น บริเวณที่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ ระยะเวลาที่ใช้ (เช่น ทิ้งไว้หรือล้างออก) ความถี่ในการใช้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพสูงสุด และหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากการใช้ที่ไม่ถูกต้อง
5.) ชื่อสถานที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า
ถ้าหากผลิตในไทย ต้องระบุชื่อและตำแหน่งที่อยู่ของโรงงานผลิตครีม แต่ถ้าหากเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ต้องระบุชื่อและตำแหน่งสถานที่ของผู้นำเข้า และแน่นอนว่าก็ต้องระบุชื่อและประเทศของแหล่งผลิตด้วยเช่นกันค่ะ
6.) ปริมาณสุทธิ
สามารถระบุได้ทั้งแบบน้ำหนัก (g, mg) หรือแบบปริมาณ (ml) ซึ่งขนาดของข้อความที่ระบุต้องสัมพันธ์กับปริมาณสุทธิของผลิตภัณฑ์นั้นๆด้วย ตามตารางข้างล่างนี้
7.) เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต
เลขที่แสดงครั้งที่ผลิตหรือที่เรามักเรียกกันว่า Lot number เป็นเลขที่บ่งบองถึงครั้งการผลิตและสถานะของสินค้าว่าเก่าหรือใหม่แค่ไหน หรือสามารถใช้สำหรับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ย้อนหลังได้
8.) วันเดือนปีที่ผลิต
เป็นการระบุวันเดือนปีที่ผลิตสินค้านั้นๆ
9.) วันเดือนปีที่หมดอายุ
สิ่งสำคัญมากๆอีกอย่างหนึ่งบนฉลากเครื่องสำอางที่จะขาดไม่ได้เลย แน่นอนว่าเป็นวันหมดอายุ เพราะถ้าหากลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุไปแล้วโดยไม่รู้ตัว ก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 30 เดือน ควรระบุวันเดือนปีที่หมดอายุบนฉลาก แต่ไม่จำเป็นต้องระบุวันหมดอายุถ้าหากผลิตภัณฑ์นั้นมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 เดือน
10.) ข้อแนะนำหรือคำเตือน
ถ้าหากผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องมีคำเตือนเพิ่มเติมก็ควรระบุให้ผู้บริโภคได้รับรู้ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้บริเวณรอบดวงตา, ให้หยุดใช้เมื่อเกิดอาการระคายเคือง และควรพบแพทย์ทันที
ข้อควรระวัง : การใส่ข้อแนะนำหรือคำเตือน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการโดนลงโทษและโดนปรับบ่อยมากๆ ซึ่งโทษปรับสูงสุดคือ จำคุก 6 เดือน และปรับ 30,000 บาท โดยการใส่คำเตือนบนฉลาก อย.จะมีการอัพเดทมาเรื่อยๆทุกเดือนโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ทราบโดยตรง ผู้ประกอบการจะต้องคอยอัพเดตข้อมูลเองอย่างสม่ำเสมอนะคะ
11.) เลขที่จดแจ้ง
เลขที่จดแจ้ง คือ เลขที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้นได้ดำเนินการแจ้งรายละเอียดการผลิต เพื่อขายหรือนำเข้าแล้ว โดยเป็นเลข 10 หลัก หรือ 13 หลัก ตามที่ได้จดแจ้งไว้
และนี่ก็คือลิสต์ 11 ข้อที่เจ้าของแบรนด์ควรเช็คว่าฉลากสินค้าของตัวเองมีครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ แต่สำหรับเจ้าของแบรนด์ที่มีบรรจุภัณฑ์และฉลากขนาดเล็ก แล้วกังวลจะถ้าใส่รายละเอียดทั้งหมดนี้เข้าไปในฉลากของแล้วจะมีแต่ตัวหนังสือเบียดกันแน่นพื้นที่ก็อย่าเพิ่งตกใจไปนะคะ
สำหรับบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก ( พื้นที่ฉลากน้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร) อนุโลมให้มีข้อความที่ต้องใส่เพียง 5 อย่างด้วยกัน ได้แก่ 1) ชื่อสินค้าหรือชื่อทางการค้า 2) เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต 3) วันเดือนปีที่ผลิต 4) วันเดือนปีที่หมดอายุ 5) เลขที่จดแจ้ง ส่วนข้อมูลอื่นๆสามารถใส่ลงไปเพิ่มในใบโบรชัวร์ แผ่นพับ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆได้ค่ะ
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าฉลากสินค้านั้นไม่เป็นไปตามกฎหมาย? แน่นอนว่าถ้าเราทำผิดกฎก็ต้องมีบทลงโทษค่ะ
โทษของการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง
อ้างอิงตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 มาตรา 57 กำหนดบทลงโทษผู้ขาย ผู้ผลิต ผู้นำเข้า เครื่องสำอางซึ่งไม่มีฉลาก หรือแสดงฉลากไม่ถูกต้องดังนี้
- มาตรา 57 ผู้ใดขายเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายเครื่องสำอางที่มีฉลากที่คณะกรรมการสั่งเลิกใช้ตาม มาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นี่เป็นเพียงกฎหมายส่วนหนึ่งที่ผู้ที่อยากแบรนด์เครื่องสำอางควรรู้ไว้เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะฉลากที่ดีควรมีข้อมูลครบถ้วนและไม่มีข้อความที่เป็นเท็จหรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง จึงสามารถสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ของเราได้ นอกจากความสวยงามของฉลากที่ช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าแล้วนั้น ข้อมูลบนฉลากที่เป็นประโยชน์และช่วยผู้บริโภคหลีกเลี่ยงอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะมัดใจลูกค้าได้อยู่หมัดค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : https://www.ilaw.or.th/node/6192 , http://wongkarnpat.com/viewya.php?id=2008